http://www.blogger.com/template-edit.g?blogID=7227343244298225108
คุณแม่มือใหม่
Custom Search
วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553
  ดื่มน้ำมะพร้าวช่วงท้อง ดีจริงหรือ ?
ดื่มน้ำมะพร้าวช่วงท้อง ดีจริงหรือ ?
ยามตั้งครรภ์ คุณแม่จะได้รายชื่อสารพัดอาหารบํารุงครรภ์ จากทุกสารทิศ หนึ่งในนั้นหนีไม่พ้น ‘น้ำมะพร้าว’ เรียกว่าเป็นเครื่องดื่มสําหรับคนท้องเลยก็ว่าได้ ด้วยสรรพคุณที่ได้ยินกันมาว่า เป็นน้ำที่สะอาด ดื่มเข้าไปแล้ว จะทําให้เด็กในท้อง ตัวสะอาด คลอดออกมาแล้วลูกจะผิวสะอาด ไม่มีไขมันติดตามตัว ฉบับนี้เราได้หาคําตอบ มาให้คุณแม่กันค่ะ

ดื่มน้ำมะพร้าว ลูกในท้องตัวสะอาด
จากการสอบถาม นพ.อนันต์ โลหะพัฒนะบํารุง กุมารแพทย์ คุณหมอได้ให้ความเห็นในเรื่องน้ำมะพร้าวว่า “ในน้ำมะพร้าวมีกรดไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เป็นไขมันไม่อิ่มตัว ไขมันอิ่มตัวก็มี มีทั้งสองอย่าง ซึ่งเป็นข้อดี เพราะคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ดื่มน้ำมะพร้าว จะทําให้การสร้างไขตัวเด็กได้สีค่อนข้างขาว เลยอาจจะดูว่าเด็กออกมาตัวสะอาด คงไม่ใช่ออกมาแล้วเด็กไม่มีไข

จริงๆ แล้วไขตัวเด็กนี้มีประโยชน์มาก เพราะจะทําให้เด็กคลอดง่าย ฉะนั้นคุณแม่ที่ดื่ม
น้ำมะพร้าวบ่อยๆ อาจจะทําให้ไขตัวเด็กมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพียงแต่สีจะสะอาด ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่ากังวลอะไร เนื่องจากเป็นธรรมชาติที่เด็กต้องมีไขมันห่อหุ้มตัว เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงจากอุณหภูมิจากภายนอกด้วย”


ในน้ำมะพร้าวมีอะไรบ้าง
เอ่ยถึงในแง่ธรรมชาติบําบัด น้ำมะพร้าว เป็นน้ำผลไม้ที่ดีที่สุดชนิดหนึ่ง เพราะมีแร่ธาตุสําคัญต่อร่างกาย ได้แก่ โปรตีน น้ำตาล แคลเซียม โปรแตสเซียม ฟอสฟอรัส และไขมันที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย แถมน้ำมะพร้าว ยังเป็นน้ำผลไม้ที่ไม่เหมือนใครตรงที่ มะพร้าวมีลําต้นสูง กว่าต้นมะพร้าวน้ำจะออกดอกเป็นผล มีน้ำให้ได้ดื่มกัน ต้องผ่านการกลั่นกรองตามชั้นต่างๆ มาแล้ว คนไทยจึงถือว่า น้ำมะพร้าวเป็นน้ำที่บริสุทธิ์มาก


ประโยชน์มากมาย
น้ำมะพร้าว สามารถดื่มเป็นยาระบาย แก้ท้องเสีย ขับปัสสาวะ แก้พิษ แก้นิ่ว บํารุงเส้นเอ็น บํารุงกระดูก มีฤทธิ์เป็นกลาง สามารถขับพยาธิ ร่างกายสามารถดูดซึมกลูโคสจากน้ำมะพร้าวไปใช้ได้อย่างรวดเร็ว ทําให้ร่างกายสดชื่น (ใครชื่นชอบน้ำอัดลมเพื่อดับกระหาย ลองเปลี่ยนเป็นน้ำมะพร้าวเย็นๆ สักแก้ว)

อาหารทุกชนิดถึงแม้จะมีประโยชน์มากมาย แต่ก็ต้องมีข้อยกเว้น อย่างคนเป็นโรคไต โรคเบาหวานไม่ควรดื่มมาก และการซื้อน้ำมะพร้าวดื่ม ควรเลือกน้ำมะพร้าวอ่อนเป็นลูก ไม่ควรซื้อที่บรรจุขวดขาย ถ้าไม่แน่ใจในความสะอาด และสารฟอกขาวต่างๆ ที่สามารถฉีดใส่เข้าไปได้ (ส่วนมากพบในมะพร้าวเผา)

ที่มา : Mother&Care Vol.3 No.29 May 2007

ป้ายกำกับ: , ,

 
Custom Search
วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553
  เลือดออกขณะตั้งครรภ์
ระหว่างการตั้งครรภ์ มีหลายช่วงจังหวะที่สร้างความตระหนกตกใจให้กับคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาการเลือดออกขณะตั้งครรภ์ ซึ่งอาจมีสาเหตุที่นำไปสู่ภาวะฉุกเฉินร้ายแรง หรืออาจเป็นเพียงขั้นหนึ่งในกระบวนการปกติของการก่อกำเนิดชีวิตก็ได้ ที่สำคัญก็คือ คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าอาการที่คุณกำลังประสบอยู่นั้น เป็นอาการปกติที่คุณไม่จำเป็นต้องแตกตื่นไป หรือเป็นอาการที่คุณต้องรีบให้ความเอาใจใส่เป็นพิเศษ
บอกได้เลยค่ะว่า ยิ่งคุณมีความเข้าใจในรายละเอียดของลักษณะอาการที่อาจเกิดขึ้นได้มากเท่าไร ก็จะทำให้คุณปฏิบัติตัวได้ถูกต้องมากเท่านั้น และด้วยความตระหนักดีถึงความสำคัญดังกล่าว เราจึงได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับอาการเลือดออกขณะตั้งครรภ์มาฝากค่ะ
คุณควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อมีเลือดออก
1. เฝ้าสังเกตดูลักษณะอาการอย่างละเอียด และจดบันทึกเอาไว้
2. หากเลือดออกเพียงกะปริบกะปรอย หรือพอเปื้อน และไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย คุณไม่จำเป็นต้องรีบไปพบแพทย์แต่อย่างใด เพียงรายงานให้แพทย์ทราบในนัดครั้งหน้าก็พอ
3. หากมีอาการปวดท้อง และมีสิ่งขับอื่นร่วมด้วย เช่น ชิ้นเนื้อ หรือก้อนเลือด ให้รีบไปพบแพทย์ด่วน
4. หากมีอาการเลือดออกในช่วงอายุครรภ์ 6 เดือนขึ้นไปแล้ว แม้มีเลือดออกเพียงกะปริบกะปรอย ก็ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะอาจเป็นอาการนำของการมีเลือดออกมาในเวลาต่อมา ซึ่งอาการเลือดออกมากในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ มักมีสาเหตุมาจากอาการแทรกซ้อนรุนแรง

คุณต้องสังเกตอะไรบ้าง
1. สังเกตดูว่าเลือดออกลักษณะอย่างไร ออกตลอดเวลา หรือเป็นๆ หายๆ
2. อาการเริ่มต้น ก่อนมีเลือดออกเป็นอย่างไร
3. สีของเลือดที่ออกเป็นสีเลือดสด หรือเลือดเก่าๆ สีน้ำตาล
4. ออกมากน้อยแค่ไหน เช่น ต้องใช้ผ้าซับ หรือแค่กะปริบกะปรอย หรือมีเลือดออกในภาวะใดภายหนึ่ง เช่น หลังร่วมเพศ
5. มีสิ่งขับอื่นใดร่วมกับอาการเลือดออกด้วยหรือไม่ เช่น ชิ้นเนื้อ ก้อนเลือด
6. มีอาการอื่นใดร่วมด้วยหรือไม่ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มีไข้ อ่อนเพลีย ฯลฯ

ภาวะเลือดออกในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์
ภาวะเลือดออกในขณะตั้งครรภ์ อาจเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนที่คุณควรให้ความเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพราะอาการที่เกิดขึ้นมีนัยที่อาจนำไปสู่ภาวะร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นกับตัวคุณ และทารกในครรภ์ ขณะเดียวกัน ก็มีนัยปกติทั่วไปของการตั้งครรภ์ด้วยเช่นกัน ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาท คุณควรทำความเข้าใจในเบื้องต้นเกี่ยวกับลักษณะอาการทั่วไป และระดับอาการที่ควรไปพบแพทย์โดยด่วน
โดยทั่วไปแล้ว เลือดที่ออกมาเพียงเล็กน้อยหรือกะปริบกะปรอยในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ มักไม่ใช่อาการรุนแรงที่ต้องไปพบแพทย์แต่อย่างใด เนื่องจากเป็นอาการที่เกิดขึ้นตามกระบวนการตั้งครรภ์ คือ
  • การฝังตัวของไข่ภายหลังการปฏิสนธิที่ผนังโพรงมดลูก ลักษณะเลือดออกจะเป็นเลือดจางออกเพียงเล็กน้อย และจะหายไปได้เอง เวลาที่มีเลือดออกจะใกล้เคียงกับการมีรอบประจำเดือนมาก
  • การปรับเปลี่ยนของระดับฮอร์โมนในรอบประจำเดือน ทำให้เกิดการลอกตัวของเยื่อบุโพรงมดลูกบางส่วน คล้ายกับการมีประจำเดือน แต่จะมีอาการเลือดออกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ส่วนสาเหตุของการมีเลือดออกในระยะ 3 เดือนแรก ของการตั้งครรภ์ที่เกิดจากความผิดปกติของการตั้งครรภ์ ได้แก่
การแท้งบุตร
จะมีเลือดออกมากร่วมกับอาการปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง และมีก้อนเลือดหรือชิ้นเนื้อขับออกทางช่องคลอด
สาเหตุ : เกิดภาวะการขับตัวอ่อน หรือไข่ที่ปฏิสนธิแล้วออกจากโพรงมดลูก ทำให้การตั้งครรภ์ยุติลง มักมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของโครโมโซม หรือพันธุกรรมที่ทำให้ไข่หรือเซลล์ไข่ไม่สามารถเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนได้ และเสื่อมสลายตัวไป นอกจากนี้ อาจมีสาเหตุมาจากสุขภาพที่ไม่สมบูรณ์ของหญิงตั้งครรภ์ด้วย
ลักษณะอาการ : ปวดเกร็งบริเวณกลางท้องน้อย บางรายจะมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงตลอด 24 ชั่วโมง บางรายมีเลือดออกมากคล้ายกับการมีประจำเดือน โดยไม่มีอาการปวดท้อง บางรายมีเลือดออกเล็กน้อยติดต่อกัน 2-3 วัน และมีก้อนเลือดหรือชิ้นเนื้อเล็กๆ ออกมาร่วมด้วย
การปฏิบัติตัว : นอนนิ่งๆ บนเตียง แล้วโทรปรึกษาคุณหมอ โดยบอกอาการต่างๆ ที่คุณสังเกตได้ให้คุณหมอรับทราบ และปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอ ซึ่งคุณอาจได้รับคำแนะนำให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน ในการเดินทางไปพบแพทย์คุณควรระมัดระวัง อย่าให้มีการกระทบกระเทือนมากนัก เพราะถ้าหากตัวอ่อนยังมีชีวิตอยู่ การดูแลอย่างเหมาะสมจะทำให้การตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปได้

การตั้งครรภ์นอกมดลูก
อาการเลือดออกมักจะเป็นเลือดเก่าๆ สีน้ำตาล หรือเลือดสดเพียงเล็กน้อย ลักษณะจะออกเพียงเล็กน้อยหรือออกกะปริบกะปรอย ร่วมกับอาการปวดท้องอย่างรุนแรง และปวดร้ายไปที่ไหล่
สาเหตุ : เกิดจากการฝังตัวของไข่ภายนอกโพรงมดลูกหลังการปฏิสนธิ ซึ่งส่วนมากจะเกิดที่บริเวณท่อนำไข่ (ปีกมดลูก) และมักจะวินิจฉัยหรือพบได้ไม่ยาก กรณีที่ไม่สามารถวินิจฉัยได้ในช่วง 2 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ การฝังตัวของไข่จะเติบโตตามขั้นตอน ทำให้เกิดการแตกของท่อนำไข่ และการหลุดของตัวอ่อน การตั้งครรภ์ก็จะยุติลง และในกรณีเช่นนี้มักจะเกิดภาวะฉีกขาดของเนื้อเยื่อ ทำให้เสียเลือดซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
ลักษณะอาการ : มีอาการปวดท้องแบบบิดๆ ที่บริเวณท้องน้อยข้างใดข้างหนึ่ง และแพร่กระจายออกไปทั้งบริเวณท้องและปวดเกร็งกล้ามเนื้อ อาการปวดจะรุนแรงมากเมื่อมีการจับต้องบริเวณนั้น รวมถึงเวลาไอ หรือถ่ายอุจจาระด้วย ในบางคนจะมีมูกปนเลือดเก่าๆ สีน้ำตาลออกทางช่องคลอด โดยจะเป็นๆ หายๆ หรือออกต่อเนื่องทุกวัน ตามมาด้วย อาการปวดท้องติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน หรือเป็นสัปดาห์ ในบางรายจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย และมีอาการอ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ปวดไหล่ ปวดก้น
ถ้ามีการแตกของท่อนำไข่ จะทำให้เสียเลือดมากจนเกิดช็อกขึ้นได้ โดยจะมีอาการซีด ชีพจรเต้นเร็ว ตัวเย็น เหงื่อออก และเป็นลมหมดสติ ในบางรายอาการปวดท้องจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรง และเฉียบพลันอยู่ระยะหนึ่งแล้วหายไป
การปฏิบัติตัว : หากมีอาการดังข้างต้น ให้รีบไปพบแพทย์ในทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดอาการขณะที่อายุครรภ์ 2 เดือนแล้ว

การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก
จะมีน้ำสีน้ำตาลจางๆ ออกทางช่องคลอด ซึ่งอาจจะออกติดต่อกันหรือเป็นๆ หายๆ
สาเหตุ : เกิดจากความผิดปกติของเนื้อรก ในส่วนที่ฝังตัวในเยื่อบุโพรงมดลูก โดยมีการเจริญเป็นถุงน้ำเล็กๆ แทนเซลล์ปกติ ซึ่งลักษณะของถุงน้ำเล็กๆ เหล่านี้มีลักษณะเหมือนไข่ปลาอุก เชื่อว่าความผิดปกตินี้เกิดจากโครโมโซมผิดปกติและพบมากในหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุมาก
ลักษณะอาการ : มีอาการแพ้ท้องอย่างรุนแรง เมื่อเข้าสู่ระยะที่ 2 ของการตั้งครรภ์จะตรวจพบว่าขนาดของมดลูกขยายใหญ่ และโตกว่าที่ควรจะเป็นมาก และลักษณะมดลูกจะนิ่มกว่าปกติ ไม่ได้ยินเสียงหัวใจทารกในครรภ์ และมักมีอาการของภาวะครรภ์เป็นพิษร่วมด้วย คือ ความดันเลือดสูง อาการบวม และตรวจพบสารไข่ขาวในปัสสาวะ ในบางรายจะพบว่ามีน้ำหนักลด และมีอาการแสดงของต่อมไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ การวินิจฉัยทำได้จากการตรวจอัลตราซาวนด์จะพบว่า ไม่มีตัวอ่อนหรือทารก และเนื้อรกมีลักษณะเป็นถุงน้ำเล็กๆ
แต่หากการอัลตราซาวนด์พบตัวอ่อน มดลูกมีขนาดเล็กกว่าอายุครรภ์ แสดงว่ามีอาการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกเพียงบางส่วน ซึ่งจะมีลักษณะอาการคล้ายกับการแท้งบุตรที่ไม่สมบูรณ์
การปฏิบัติตัว : ไปพบแพทย์โดยด่วน เพื่อให้คุณหมอขูดมดลูกให้เพื่อยุติการตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะวินิจฉัยพบว่า เป็นครรภ์ไข่ปลาอุกเพียงบางส่วนและตัวอ่อน หรือทารกยังมีชีวิตอยู่ก็ตาม เพราะทารกที่คลอดออกมาจะมีความผิดปกติแต่กำเนิด
อย่างไรก็ตาม อาการเลือดออกใน 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์นี้ บางครั้งก็หาสาเหตุไม่พบ แต่การตั้งครรภ์ก็สามารถดำเนินต่อไปได้ตามปกติ จนทารกคลอดออกมา โดยไม่มีสิ่งผิดปกติใดๆ เกิดขึ้น ดังนั้น เมื่อคุณได้รายงานถึงสถานการณ์เลือดออกทางช่องคลอดให้คุณหมอได้ทราบแล้ว และได้รับการวินิจฉัยว่าไม่มีอันตรายใดๆ คุณก็สบายใจได้เพียงปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัดเท่านั้นก็พอค่ะ

ภาวะเลือดออกในระยะท้ายของการตั้งครรภ์
อาการเลือดออกกะปริบกะปรอย หรือออกเพียงเล็กน้อยในระยะการตั้งครรภ์ 6 เดือน มักไม่มีสาเหตุรุนแรงมาก นอกจากการกระทบกระเทือนของปากมดลูก เช่น การมีเพศสัมพันธ์หรือการตรวจภายใน ซึ่งบางครั้งก็ไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน แต่เป็นอาการที่จำเป็นต้องรับการตรวจจากแพทย์โดยด่วน เนื่องจากอาการเลือดออกเพียงเล็กน้อยนี้ อาจจะเป็นอาการนำของการมีเลือดออกอย่างมากในเวลาต่อมาได้
อาการเลือดออกมากในการตั้งครรภ์ภายหลัง 6 เดือน มักมีสาเหตุจาก
รกเกาะต่ำ หรือรกเกาะที่ปากมดลูก
จะเกิดขึ้นในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 28 สัปดาห์เป็นต้นไป โดยเลือดที่อกจะเป็นสีเลือดสด ออกมากหรือน้อยได้พอๆ กัน
สาเหตุ : เนื่องจากในระยะใกล้คลอด บริเวณปากมดลูกจะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นเพื่อเตรียมสภาวะสู่การคลอด โดยการยืดขยายตัวออก ทำให้ปากมดลูกบางตัวลง ส่งผลให้เกิดการแยกตัวของส่วนเนื้อรก และผนังมดลูกที่เกาะอยู่ทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอด และกระตุ้นให้เกิดการหดรัดตัวของมดลูก นำไปสู่การคลอดก่อนกำหนดได้
ลักษณะอาการ : เกิดขึ้นหลังการไอ หรือหลังร่วมเพศ ไม่มีอาการเจ็บครรภ์ร่วมด้วย และมักจะเกิดขึ้นเองโดยไม่มีสาเหตุนำ แต่มักจะเกิดในระยะท้ายๆ ของการตั้งครรภ์ คือ อายุครรภ์ประมาณ 7-8 เดือน
การปฏิบัติตัว : ถ้าสงสัยว่าอาการเลือดออกทางช่องคลอดเกิดจากภาวะรกเกาะต่ำ ให้คุณนอนพักบนเตียงเพื่อยืดเวลาของการคลอดให้เกิดช้าที่สุด ป้องกันภาวะท้องผูกโดยใช้ยาช่วย กินอาหารอ่อนย่อยง่าย และเน้นอาหารเพิ่มกากใย ทั้งนี้โดยปกติคุณหมอจะตรวจพบอาการได้ตั้งแต่อายุครรภ์น้อยๆ ซึ่งคุณก็จะได้รับคำแนะนำให้พักผ่อน และหลีกเลี่ยงงานหนัก ไม่ทำให้เกิดการกระทบกระเทือนใดๆ ต่อมดลูก หรือปากมดลูกที่จะทำให้รกมีการลอกตัวก่อนเวลา

การลอกตัวของรกก่อนคลอด
ลักษณะเลือดออกคล้ายเลือดประจำเดือนในวันมามาก อาจจะมีเลือดเก่าๆ ออกพร้อมลิ่มเลือด
สาเหตุ : มดลูกเกิดการกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุ หรือภาวะแทรกซ้อนอื่น เช่น การตั้งครรภ์ที่มีสายสะดือสั้น ผู้ที่ได้รับแอสไพริน ผู้ที่สูบบุหรี่จัด หรือมีความดันเลือดสูง ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวเป็นผลให้รกค่อยๆ แยกตัวออกจากผนังมดลูกที่เกาะ ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด
ลักษณะอาการ : อาการเลือดออกจะเกิดร่วมกับอาการปวดท้อง หรือมีอาการหดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกอย่างรุนแรง ปวดเกร็งหน้าท้อง และกดเจ็บบริเวณส่วนบนของมดลูก ถ้ามีการลอกตัวของรกมากจะมีอาการแสดง ของการเสียเลือดมากจนถึงขั้นช็อก (เป็นลม) ได้
การปฏิบัติตัว : ควรรีบไปพบแพทย์เป็นการด่วน เนื่องจากคุณหมอจะต้องเฝ้าสังเกตอาการของคุณเพื่อดูว่า การลอกตัวของรกเกิดขึ้นมากหรือไม่ ซึ่งถ้าหากมีเลือดออกมาก อาจเป็นสัญญาณอันตรายถึงชีวิตได้
คุณหมอจะให้คุณนอนนิ่งๆ บนเตียงและทำการประเมินภาวะเลือดออกอย่างใกล้ชิด และตรวจสอบสุขภาพทารกในครรภ์สม่ำเสมอ รวมทั้งการเตรียมคลอดฉุกเฉินตลอดเวลา

การคลอดก่อนกำหนด
เลือดที่ออกจะมีลักษณะเป็นมูกปนเลือด ร่วมกับอาการเจ็บครรภ์คลอด อาจจะมีน้ำหรือสิ่งขับออกทางช่องคลอดเป็นสีน้ำตาลจางๆ หรือสีชมพู หรืออาจจะมีอาการน้ำเดินหรือมูกเลือดออกทางช่องคลอด
สาเหตุ : ขึ้นอยู่กับสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์และประวัติในการคลอดก่อนกำหนดที่ผ่านมา
ลักษณะอาการ : ปวดถ่วงท้องคล้ายปวดประจำเดือน อาจจะมีอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย เช่น ท้องเดิน คลื่นไส้ อาหารไม่ย่อย ปวดหลัง ปวดก้นกบ และปวดร้าวไปที่หน้าขา
การปฏิบัติตัว : งดกิจกรรมการมีเพศสัมพันธ์ทันทีที่มีอาการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด จำกัดกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวและการใช้แรงกายทุกชนิด พยายามพักผ่อนให้มากขึ้น และควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากคุณหมอ

อ่านมาถึงตรงนี้ คุณอาจรู้สึกเครียด และคิดไปว่า การตั้งครรภ์เป็นอีกหนึ่งภาวะที่นำคุณสู่ความเสี่ยงอันตราย อาจจะใช่ค่ะ หากแต่นี่เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของปัจจัยสำคัญในการให้กำเนิดชีวิตที่เราคัดเลือกมานำเสนอคุณเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้คุณได้ตระหนัก และมีความเข้าใจในเรื่องละเอียดอ่อนเหล่านี้ เพื่อการตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพ
นั่นเพราะการให้กำเนิดชีวิตน้อยๆ เป็นภาวะที่สำคัญยิ่งของผู้เป็นแม่ เช่นคุณ !


(update 15 กรกฎาคม 2005)
[ ที่มา... นิตยสารบันทึกคุณแม่ ปีที่ 10 พฤศจิกายน 2546 ]

ป้ายกำกับ: , ,

 

ชื่อ:
adasdfasdfasdf






คลังบทความ
กุมภาพันธ์ 2010 /


Powered by Blogger

สมัครสมาชิก
บทความ [Atom]